โหลดแอปฯ
ดาวน์โหลด:
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอปวัตสัน
  • google-play.png
  • app-store.png
  • app-gallery.png
ค้นหาร้านค้า บทความน่าอ่าน
Watsons Services
0
ตะกร้า
Share

ฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus การติดเชื้อจะเริ่มต้นที่รูขุมขน และลามลงไปในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป ถึงแม้ว่าฝีขนาดเล็ก ๆ จะสามารถดูแลรักษาให้หายเองได้ แต่ถ้าเกิดเป็นฝีที่มีความรุนแรง ก็มีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย จึงควรดูแลรักษาและป้องกันฝีไว้ตั้งแต่เนิน ๆ วัตสันอยากชวนเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ฝี” ว่าฝีเกิดจากอะไรเอาไว้ก่อน เพื่อหาวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองและป้องกันได้อย่างถูกวิธี

ฝี คืออะไร

ฝี เป็นโพรงหนอง หรือตุ่มหนองที่มีการติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน เริ่มต้นจะมีลักษณะเป็นแผลเล็ก ๆ ที่เจ็บแปลบ และโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ ในช่วงแรกฝีมักมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว และจะมีระดับความเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อฝีโตขึ้น ซึ่งฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย ทั้งบนผิวหนัง ในปาก และอวัยวะภายใน

กระบวนการเกิด ฝี

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองโดยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่ติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาวจะพยายามกำจัดเชื้อโรค ด้วยกระบวนการนี้เลยทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนตายลง จนเกิดการสะสมของเม็ดเลือดขาวขึ้นภายในเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย กระบวนการนี้อาจทําให้เกิดการอักเสบและเกิดเป็นก้อนขึ้น เมื่อก้อนนั้นมีหนองซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อ เชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่และตายแล้วรวมทั้งของเหลว ก็จะกลายเป็น “ฝี” ขึ้นมา

ฝีเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะพบบ่อยมากกว่าเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะเริ่มต้นที่รูขุมขน และลามลงไปในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป ทําให้เกิดก้อนหนองหรือฝี

นอกจากนั้นฝียังสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยง เช่น แผลติดเชื้อ การรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมไปถึงฝีอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากรูขุมขนที่อักเสบ โดยการระคายเคืองหรือการออกเหงื่อมากเกินไปสามารถทำให้อาการของฝีแย่ลงได้

ประเภทของฝี

1. ฝีบนผิวหนัง

ฝีผิวหนัง หรือฝีที่เกิดใต้ผิวหนัง เป็นฝีที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้ง่าย  ฝีผิวหนังจะเป็นที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณรากผมหรือขนที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนาจนเกิดฝี เช่น ฝีรักแร้ เกิดขึ้นเมื่อหนองสะสมที่บริเวณรักแร้ ฝีเต้านม เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม ฝีรอบทวารหนัก เกิดขึ้นใต้ผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนักหรือไส้ตรง เป็นต้น

2. ฝีในปาก

ฝีในปาก เป็นฝีที่เกิดในอวัยวะภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟัน เหงือก หรือลำคอ เช่น ฝีเหงือก เกิดขึ้นในเหงือกโดยไม่ส่งผลต่อฟัน ฝีปลายรากฟัน สาเหตุอาจมาจากการบาดเจ็บที่ฟันหรือฟันผุ ฝีปริทันต์ ฝีที่ส่งผลต่อกระดูก และเนื้อเยื่อที่พยุงฟัน มักเกิดจากโรคเหงือกอักเสบ และยังมีฝีอื่น ๆ ในช่องปากยังรวมถึง ฝีทอนซิล ฝีรอบทอนซิล ฝีหลังคอหอย เป็นต้น

3. ฝีภายในร่างกาย

ฝีภายในร่างกาย เป็นฝีที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่าฝีภายนอก แต่สามารถเกิดขึ้นที่ไขสันหลัง สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งฝีภายในจะมีการวินิจฉัย และรักษาได้ยากกว่า เช่น ฝีในช่องท้อง เป็นการสะสมของหนองภายในช่องท้อง ฝีไขสันหลัง การสะสมของหนองที่ภายในหรือบริเวณรอบ ๆ ไขสันหลัง ฝีสมอง เป็นฝีที่เกิดขึ้นในสมอง พบได้น้อย แต่มีความร้ายแรงสูง

อาการของโรคฝี

ฝีมีหลายประเภท สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งฝีผิวหนัง ฝีในช่องปาก และฝีนภายใน ซึ่งอาการของฝีก็จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดด้วย เช่น

อาการของฝีผิวหนัง

  • ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง
  • ผิวหนังรอบฝีจะแดงบวม
  • ปวด
  • มีไข้
  • หนาวสั่น

อาการของฝีในช่องปาก

  • ปวดฟันอย่างรุนแรงหรือเสียวฟัน
  • อ้าปาก เคี้ยวหรือกลืนลำบาก
  • มีไข้

อาการของฝีในผิวหนังชั้นลึก หรือภายในร่างกาย

  • มีอาการปวดและกดเจ็บ
  • มีไข้หนาวสั่น
  • รู้สึกเหนื่อย
  • เหงื่อออกมาก
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus

วิธีสังเกต ฝีกับสิวต่างกันยังไง

ลักษณะของฝีที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจะเป็นโพรงหนอง หรือตุ่มหนอง มีอาการอักเสบ ทำให้ผิวหนังรอบ ๆ ฝีมีการบวมแดง ถ้าเป็นฝีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจะดูคล้าย ๆ กับสิว แต่ฝีกับสิวมีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง สามารถสังเกตได้ ดังนี้

1. ลักษณะของฝี

ฝีจะมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วกว่าสิว และฝีจะมีหนองสะสมอยู่ลึกและมากกว่าสิว ส่วนความเจ็บปวดฝีจะมีความเจ็บปวดมากกว่า และอาจรู้สึกปวดลึก ๆ ในเนื้อเยื่อ

  • การเกิด ฝีจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่การสะสมของหนองภายในเนื้อเยื่อ
  • อาการ ฝีจะมีอาการบวมแดง เจ็บปวดมาก มีหนองสะสมอยู่ลึกลงไปในผิวหนัง มีขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ตำแหน่งที่พบ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย รวมถึงบริเวณที่ไม่มีรูขุมขน

2. ลักษณะของสิว

สิวมีขนาดเล็กและเติบโตช้า สิวจะมีหนองเล็กน้อยที่ผิวหนังไม่มากเท่ากับฝี ส่วนความเจ็บปวดสิวมักมีอาการเจ็บเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และสิวจะไม่มีอาการร่วมอย่างเช่นเป็นไข้อีกด้วย

  • การเกิด สิวเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนจากน้ำมัน (Sebum) และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
  • อาการ มีตุ่มเล็ก ๆ หรือหัวหนองที่ผิวหนัง มักไม่เจ็บปวดเท่าฝี ยกเว้นสิวอักเสบ
  • ตำแหน่งที่พบ พบมากในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หลัง และหน้าอก

สาเหตุที่เป็นฝี

1. เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส Staphylococcus Aureus

ฝี สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียชนิด Staphylococcus Aureus เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวยับยั้งการติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบ และเนื้อเยื่อใกล้เคียงจะตายลง ส่งผลให้เกิดโพรงที่เต็มไปด้วยหนองและเกิดฝีขึ้น

2. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การเกิดฝีมีส่วนเกี่ยวกับเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์เม็ดเลือดขาว สำหรับในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ติดเชื้อ HIV จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีมากกว่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป เพราะร่างกายมีความสามารถในการต้านเชื้อโรคน้อยกว่า

3. แผลติดเชื้อหรือการรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี

เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อ ทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงผ่านหนอง ของเหลว หรือกระแสเลือดที่ติดเชื้อ เลยทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ เข้าไปสะสมภายในต่อม ทำให้เกิดการต่อต้านกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจนกลายเป็นฝีขึ้นได้ นอกจากนั้นฝีอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากรูขุมขนที่อักเสบ โดยการระคายเคืองหรือการออกเหงื่อมากเกินไป แล้วมีการรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดีสามารถทำให้อาการแย่ลงได้

4. การสัมผัสกับสิ่งสกปรก

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีที่พบบ่อยที่สุด ก็คือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามผิวหนังของเรา เมื่อเราไม่ได้ทำความสะอาดมือแล้วไปหยิบจับอาหาร ก็มีโอกาสที่เชื้อตัวนี้จะติดลงไปในอาหารที่ทานและเข้าสู่ร่างกายได้

5. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด

สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด เป็นศูนย์รวมของสิ่งสกปรก เชื้อโรค ต่าง ๆ มากมาย มีโอกาสทำให้ป่วยได้ง่าย ยิ่งในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นฝีได้ง่ายขึ้น และเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ก็มีโอกาสสัมผัสสิ่งสกปรกเข้าปากได้ง่ายขึ้นด้วย มีโอกาสเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ที่อยู่ตามผิวหนังของเราเข้าสู่ร่างกายได้

6. สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป

ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ที่มีอยู่ตามผิวหนังของเราอยู่แล้ว เมื่อใส่ชุดที่คับแน่นเกินไปเลยมีโอกาสทำให้เกิดการเสียดสีได้มากขึ้น และทำให้ผิวเกิดการอักเสบ มีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดฝีขึ้นได้

7. การมีโรคผิวหนังเรื้อรัง

ไมใช่แค่สาเหตุของการติดเชื้อติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง อาจทำให้เกิดโอกาสเป็นฝีเพิ่มขึ้นได้ เช่น การมีโรคผิวหนังเรื้อรัง อย่าง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

8. การใช้สารเสพติดทางหลอดเลือดดำ

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโอกาสเป็นฝีเพิ่มขึ้นได้ นอกจากการเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังแล้ว ยังมีเรื่องของการใช้สารเสพติดทางหลอดเลือดดำด้วย เพราะพฤติกรรมเสี่ยงแบบนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น

9. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝีได้ง่ายขึ้น คือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง เนื่องจากการเกิดฝีมักเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์เม็ดเลือดขาว ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายต้านเชื้อโรคได้น้อยกว่า จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีมากกว่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป

การตรวจวินิจฉัยโรคฝี

การตรวจวินิจฉัยโรคฝี สามารถทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูฝีบนผิวหนัง โดยแพทย์อาจเก็บหนองไปตรวจสอบเพาะเชื้อเพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียและวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสม หรือหากคาดเดาได้ว่าอาจจะเป็นฝีภายในร่างกาย จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น การอัลตราซาวนด์ CT scan และ MRI เพื่อตรวจฝีในอวัยวะภายใน

การประคบอุ่นเป็นวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง

การรักษาฝี

1. วิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง

สำหรับฝีขนาดเล็ก หรือฝีที่ใกล้ผิวหนัง อาจจะสามารถหายไปได้เอง และสามารถรักษาอาการเบื้องต้น ด้วยการประคบอุ่นสามารถช่วยให้ฝีระบายหนองออกมาได้เอง แต่ไม่ควรพยายามบีบหรือเจาะฝี เพราะอาจทำให้การติดเชื้อแพร่กระจาย

2. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ในบางกรณีที่มีอาการอักเสบ เจ็บปวด มีหนองมาก การรักษาอาจต้องมีการระบายหนองร่วมด้วย ในการรักษาฝีบนผิวหนัง แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรีย และให้รับประทานยาปฏิชีวนะ พร้อมกับการผ่าตัดเพื่อระบายหนอง

3. การระบายหนอง (Incision and Drainage)

การรักษาด้วยการระบายหนอง แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ จากนั้นทำการกรีดฝีเพื่อระบายหนอง และนำเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก และขณะที่ดูแลรักษาแผลระบายหนองด้วยตัวเอง ควรตรวจดูแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อสถ้าเกิดการเปียกชุ่ม เมื่อแผลจะเริ่มตกสะเก็ด เป็นสัญญาณว่าแผลกำลังจะหาย และมักหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์

4. การรักษาฝี ในช่องปาก

การรักษาฝี ในช่องปาก เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยทันตแพทย์จะทำการระบายหนองออก ซึ่งอาจต้องทำการรักษารากฟัน หรือถอนฟันที่ได้รับผลกระทบไปด้วย และอาจสั่งยาปฏิชีวนะไปรักษาเพิ่มเติม

5. การรักษาฝีภายใน

การรักษาฝีภายใน แพทย์อาจทำการดูดหนองด้วยเข็ม โดยใช้การนำทางด้วยอัลตราซาวนด์ หรือซีทีสแกน หรืออาจจะต้องทำการผ่าตัดในบางกรณี ซึ่งจะทำการกรีดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังเพื่อใส่สายสวนสำหรับการระบายหนองเข้าไปในถุงรองรับด้านนอก โดยอาจติดถุงไว้กับตัวผู้ป่วยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเพื่อให้หนองที่ค้างอยู่ไหลออกมาได้หมด

6. การใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาฝีที่ร้านยา

สำหรับผู้ที่มีอาการฝีที่ไม่รุนแรง หรือมีฝีหนองที่ผิวหนัง สามารถใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วม “โครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ” ซึ่งจะมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา และจ่ายยาที่จำเป็น เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดหรือยาทาฝีเบื้องต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ฝีขนาดเล็กหรือฝีที่ใกล้ผิวหนังอาจสามารถหายไปได้เอง

การป้องกันการเกิดฝี

1. การป้องกันฝีผิวหนัง

การป้องกันฝีผิวหนัง สามารถทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหนังและแผล ให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ นอกจากนั้นควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกน หรือแปรงสีฟัน รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการสร้างแผลบริเวณผิวหนัง พร้อมกับรักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่

2. การป้องกันฝีในช่องปาก

การป้องกันฝีในช่องปาก ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรักษาสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงเช้าและก่อนเข้านอน เพราะระหว่างการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่เชื้อโรค หรือแบคทีเรียในช่องปากมีการเจริญเติบโตมากที่สุด รวมถึงใช้ไหมขัดฟันให้สะอาด และเข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน

3. การป้องกันฝีภายใน

สำหรับฝีภายในร่างกาย มักกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ การรักษาและป้องกันโรคพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ ช่น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดฝีได้

การป้องกันฝีผิวหนังทำได้ด้วยการรักษาความสะอาด

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

ถ้าเกิดฝีไม่หายเองภายใน 2-3 วัน หรือหากมีไช้ และมีอาการปวดมากขึ้น ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ฝีแตกและเชื้อโรคแพร่กระจาย 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฝี

1. ฝีแตกต่างจากฝีฝักบัว และฝีอื่นอย่างไร?

ฝี (Abscess) จะเป็นการสะสมของหนองในเนื้อเยื่อ ส่วนฝีฝักบัว (Carbuncle) เป็นฝีที่เกิดจากการรวมตัวของฝีเล็ก ๆ หลายฝี ทำให้เกิดฝีที่มีขนาดใหญ่มีรูเปิดหลายรู

2. การบีบหรือกดฝีเป็นอันตรายหรือไม่?

การบีบหรือกดฝีเป็นอันตรายอย่างมาก เมื่อเกิดฝีไม่ควรบีบหรือกดฝีเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น หรือเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ควรให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาตามอาการต่อไป

3. ฝี ที่ไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์สามารถหายเองได้หรือไม่?

สำหรับฝีขนาดเล็กอาการมักจะดีขึ้นและฝีจะหายไปเอง อาจปล่อยให้หายไปเองตามธรรมชาติได้ แต่ถ้าหากเป็นฝีขนาดใหญ่หรือฝีที่อวัยวะภายในจำเป็นต้องได้รับการรักษา หากไม่รักษาฝีอาจจะแตก นำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

4. ฝีที่อวัยวะภายในอันตรายแค่ไหน?

ฝีที่อวัยวะภายใน เช่น ฝีในสมอง หรือฝีในช่องท้อง ถือเป็นภาวะที่อันตราย และต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือเสียชีวิตได้

5. ควรดูแลตนเองอย่างไรหลังได้รับการรักษาฝี?

หลังจากได้รับการรักษาฝีแล้ว ควรรวจเช็กแผลทุกวัน ทำแผล และเปลี่ยนผ้าพันแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และถ้าเกิดมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ บวมแดง หรือปวดมากขึ้น ควรพบแพทย์ทันที

ทำความเข้าใจเรื่องของ “ฝี” มาแล้ว ได้รู้แล้วว่าฝี มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองขึ้นมา นอกจากการดูแลภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ควรจะดูแลรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.pobpad.com/%E0%B8%9D%E0%B8%B5/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B5
https://hdmall.co.th/blog/c/abscess-symptoms-treatment-prevention/
https://www.exta.co.th/what-is-an-abscess-causes-symptoms-treatment-prevention/
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/abscess#causes
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/abscess-incision-and-drainage

คลิกอ่านคอนเท้นอื่นๆที่น่าสนใจ

Previous

15 ไอเดียอัพลุคคูล แต่งตัวไปดูคอนเสิร์ตแบบคนมีสไตล์

Next

ปาร์ตี้ฉ่ำแต่พรุ่งนี้ต้องทำงาน กินอะไรแก้แฮงค์ พร้อมวิธีแก้แฮงค์ปวดหัวคลื่นไส้

Related Topics
Share
*/?>