โหลดแอปฯ
ดาวน์โหลด:
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอปวัตสัน
  • google-play.png
  • app-store.png
  • app-gallery.png
ค้นหาร้านค้า บทความน่าอ่าน
Watsons Services
0
ตะกร้า
Share

ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptive pills) แบ่งเป็น 2 ประเภทขึ้นตามชนิดของส่วนประกอบของฮอร์โมน ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined hormonal contraceptives หรือ pills) ซึ่งประกอบด้วย ฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ชนิดเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (progestin) และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progestin-only pills หรือ minipills) ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักเป็นที่นิยมใช้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคุมกำเนิดสำหรับสตรีให้นมบุตร ผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ผู้ที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาและในปอด คนที่ปวดศีรษะไมเกรน

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างไร

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินเพียงอย่างเดียว มีประสิทธิภาพในการป้องกันตั้งครรภ์สูงไม่แตกต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจนและโพรเจสติน พบว่ามีอัตราความล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 0.3 ในการศึกษาทางคลินิก แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการใช้ยา การลืมรับประทานยาหรือการรับประทานยาไม่ตรงเวลา ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิภาพและอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างดีโซเจสตรีลและดรอสไพรีโนน พบว่าตัวยาทั้งสองมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์

ใครควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

เลือกใช้ในกรณีใช้เฉพาะในกรณีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หรือรังไข่ ผู้ที่มีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน (Deep venous thrombosis) ผู้ปวดศีรษะไมเกรนที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น นอกจากนั้นยังพิจารณาใช้ในการคุมกำเนิดในหญิงที่กำลังให้นมบุตรซึ่งไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในตัวยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีผลในการยับยั้งฮอร์โมนโพรแลคติน (prolactin) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในหญิงให้นมบุตร ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินไม่มีผลต่อการกดการสร้างน้ำนม

ข้อเสีย และผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ในคนที่ใช้ยานี้มักพบปัญหาภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย (spotting) หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน (breakthrough bleeding) รอบประจำเดือนสั้นลง และปริมาณเลือดประจำเดือนลดลง โดยพบอาการได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อลืมรับประทานยา

ตัวยาสำคัญในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตรงที่ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) มีแต่ฮอร์โมนโพรเจสติน (progestin) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมี 3 ตัวยา ได้แก่ ไลเนสทรีนอล (lynestrenol) ดีโซเจสตรีล (desogestrel) ดรอสไพรีโนน (drospirenone) ดังแสดงในตาราง แต่ละตัวยานั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • ไลเนสทรีนอล: เป็นโพรเจสตินรุ่นแรกที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) สูง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น สิว ขนดก หน้ามัน เป็นต้น
  • ดีโซเจสตรีล: เป็นโพรเจสตินรุ่นที่ 3 ที่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดดีขึ้น และมีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลดลง ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ลดลง
  • ดรอสไพรีโนน: เป็นโพรเจสตินรุ่นที่ 4 ที่มีการพัฒนาให้มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน จึงทำให้เกิดสิว ขนดก หรือหน้ามันได้น้อยมาก รวมถึงมีการออกแบบยาเป็น 24+4 (เม็ดฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดแป้ง 4 เม็ด) ทำให้มีระยะเวลาปลอดฮอร์โมน 4 วัน จึงช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอกว่าฮอร์โมนรุ่นเก่า

28 หมายถึง รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน 28 เม็ดต่อเนื่อง

24+4 หมายถึง รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ดตามด้วยเม็ดแป้ง 4 เม็ด

 วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด lynestrenol และ desogestrel  ใน 1 แผง จะมีฮอร์โมนทุกเม็ด จึงไม่มีช่วงที่ร่างกายเว้นจากฮอร์โมน (hormone-free interval) ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด โดยควรรับประทานในเวลาเดียวกันเพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความสม่ำเสมอ สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด drospirenone สามารถรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนจำนวน 24 วัน วันละ 1 เม็ด และรับประทานเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมน 4 เม็ด โดยทุกชนิดแนะนำให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 1-5 วันที่มีเลือดประจำเดือน แล้วรับประทานตามลูกศรที่ระบุในแผงยา

ข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

อย่างไรก็ตามยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ห้ามใช้ในบุคคลที่มีภาวะเหล่านี้

  • หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการศึกษาที่รายงานว่ายาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • มะเร็งเต้านม เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจส่งเสริมการโตของเนื้อร้ายเหล่านี้ได้
  • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากสาเหตุของเลือดออกผิดปกติอาจมาจากปัญหาอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน
  • เนื้องอกที่ตับ ตับแข็ง ตับวายเฉียบพลัน เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ ถ้าตับมีความผิดปกติอาจทำให้ยาสะสมในร่างกาย รวมถึงยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้

สรุป

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด อย่างไรก็ตามหากต้องการเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกยาคุมกำเนิดชนิดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล รวมถึงกรณีที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/640

https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/644

https://www.amarinbabyandkids.com/review/birth-control-pill/

Faculty of Pharmacy, Mahidol University. (n.d.). รู้จักยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว. Retrieved June 12, 2025, from https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=68

Faculty of Pharmacy, Mahidol University. (n.d.). ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว. Retrieved June 12, 2025, from https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/694

ปรึกษาเรื่องสุขภาพ และการใช้ยากับเภสัช
Previous

ยาและอาหารที่ไม่ควรทานพร้อมกัน

Related Topics
Share
*/?>