รังแค เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพที่อาจไม่รุนแรง เป็นอันตรายมากเท่าไร แต่ก็กวนใจอยู่ไม่น้อย เพราะทั้งอาการคัน รวมไปถึงแผ่นผิวหนังที่หลุดร่วง ทำให้สุขภาพผมและหนังศีรษะอ่อนแอ และยังทำให้เสียบุคลิก เสียความมั่นใจไปได้ด้วย บทความนี้วัตสันเลยมีวิธีรับมือกับรังแคมาแบ่งปันกันด้วย จะเป็นยังไง ลองตามไปดูกันต่อในบทความได้เลย
รังแค คืออะไร
รังแคเป็นอาการผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง มีอาการผิวหนังลอก เป็นขุย และอาจมีอาการแดงหรือคัน มีความรุนแรงแตกต่างกันไป มักจะพบบ่อยบริเวณแนวไรผม ใบหู คิ้ว ข้างจมูก และหน้าอก ส่วนมักจะเกิดในคนที่มีผิวมันมากกว่าสภาพผิวอื่น ๆ
รังแค อาการเป็นอย่างไร
อาการของรังแคค่อนข้างจะคล้ายกับอาการหนังศีรษะแห้ง ทำให้หลายคนเข้าใจผิดอาการรังแคและหนังศีรษะ แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งอาการของรังแคสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีขุยหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ หลุดลอกเป็นแผ่น
- มีอาการคันหนังศีรษะ
- หนังศีรษะแห้งหรือมัน
รังแคเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
1. หนังศีรษะเสียสมดุล
เมื่อหนังศีรษะเสียสมดุลจะทำให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป หรือมันจนเกินไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และเมื่อหนังศีรษะแห้งหรือมันจนเกินไป มีส่วนทำให้เกิดรังแคเป็นแผ่นอาจทำให้เกิดอาการคัน ผมร่วง ระคายเคืองหนังศีรษะตามมาได้
2. ยีสต์
สาเหตุหนึ่งของรังแคอาจมีส่วนมาจากยีสต์หรือเชื้อราเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Malassezia spp. ซึ่งเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับโรคเกลื้อน เชื้อรากลุ่มนี้ทำให้หนังศีรษะอักเสบจนเกิดเป็นรังแค ซึ่งความรุนแรงของรังแคนั้นขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันหรือร่างกายของแต่ละคนด้วย
3. ร่างกายอ่อนแอ
เมื่อร่างกายอ่อนแอลง อาจจะเกิดสาเหตุมาจากการนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย ร่างกายขาดสารอาหารหรือวิตามิน ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้มีส่วนทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่งผลให้ผิวหนังรวมถึงหนังศีรษะไม่แข็งแรง ทำให้เกิดรังแคขึ้นได้
4. โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังบางชนิด เช่น เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) สะเก็ดเงิน (Psoriasis) หรือโรคผิวหนังอักเสบ ฯลฯ เป็นโรคผิวหนังที่มีอาการผิวลอกเป็นแผ่น ๆ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคขึ้นได้ด้วย และกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษา
5. ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
รังแคอาจเกิดมาจากความไม่สมดุลทางฮอร์โมน เนื่องจากเมื่อร่างกายมีระดับฮอร์โมนแบบไม่คงที่ จะส่งผลต่อการทำงานของต่อมภายในร่างกาย ร่วมทั้งต่อมไขมัน โดยจะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติตามมา และอาจทำให้เป็นรังแคขึ้นมาได้
6. ต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป
นอกจากเรื่องความไม่สมดุลของฮอร์โมน ยังมีสาเหตุของต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป เมื่อต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกิน จะส่งผลให้มีการกระตุ้นเชื้อรา จนมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าปกติ และทำให้เกิดเป็นรังแคขึ้นมาได้
7. การมีผิวและหนังศีรษะที่แห้ง
สำหรับการมีผิวและหนังศีรษะที่แห้ง เป็นผลทำให้ผิวอาจเกิดการผลัดผิวเร็วเกินไป จนตกสะเก็ดหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น ๆ และอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่นหนังศีรษะแห้งจนลอกเป็นแผ่นบางเล็ก ๆ หรือเกิดเป็นรังแคตามมาได้
8. ไม่ค่อยสระผม
เวลาที่เราไม่ได้สระผมจะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วบนหนังศีรษะเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้เกิดการสะสมของรังแคเพิ่มตามด้วย นอกจากนั้นยังอาจจะทำให้ผิวหนังศีรษะอักเสบ ทำให้เกิดสิวและผื่นขึ้นมาได้ด้วย
9. การใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม
การใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น มูส สเปรย์ เจล ฯลฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอยู่ด้วย ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นอาจจะมีส่วนทำให้เกิดความระคายเคืองกับหนังศีรษะ และเมื่อหนังศีรษะเกิดอาการระคายเคือง ก็อาจจะทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นรังแคขึ้นได้
10. ขาดสารอาหารบางประเภท
นอกจากเรื่องของการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะแล้ว เรื่องของอาหารการกินก็มีส่วนทำให้เกิดรังแค เพราะรังแคอาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อขาดสารอาหารบางประเภท เช่น ขาดวิตามินบี ซิงก์ (สังกะสี) ที่ป็นวิตามินเสริมที่ช่วยในเรื่องการเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นผม เล็บ และผิวหนัง รวมไปถึงโอเมก้า 3 ที่ช่วยป้องกันอาการอักเสบของรูขุมขนและทำให้หนังศีรษะแข็งแรง ช่วยป้องกันผมร่วงด้วย
11. ความเครียด
ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร เรื่องสุขภาพจิตก็มีส่วนทำให้เกิดรังแคขึ้นได้ อย่างเวลามีความเครียด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแคได้ เนื่องจากความเครียดจะส่งผลทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนจนขาดความสมดุล รวมไปถึงทำให้หนังศีรษะเสียสมดุล และเกิดรังแคขึ้นได้
12. ดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็มีส่วนทำให้เกิดรังแคได้เหมือนกัน เพราะแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้หนังศีรษะแห้ง ไม่ชุ่มชื้น ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่สูญเสียไป กระตุ้นให้เกิดรังแคขึ้นมาได้ด้วย

การวินิจฉัยอาการรังแค
สำหรับการวินิจฉัยอาการรังแค เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดเส้นผม ประวัติการใช้ยา และตรวจดูหนังศีรษะ ในกรณีที่มีรังแคมากผิดปกติอาจจะมีการตรวจหาเชื้อยีสต์ เพิ่มเติมโดยนำตัวอย่างรังแคไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย ซึ่งอาการของรังแคส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ดังนี้
อาการของรังแคที่พบได้ทั่วไป
- หนังศีรษะแห้ง
อาการหนังศีรษะแห้งจากรังแค มักจะมีสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง ลักษณะเป็นแผ่นแบนและบางมันวาว มักพบบริเวณหนังศีรษะ เส้นผม หรือไหล่ แตกต่างจากหนังศีรษะที่หลุดลอกจากสาเหตุของความแห้งจะมีสีขาว และ มีขนาดที่เล็กกว่าสาเหตุที่มาจากรังแค
- อาการคัน
เมื่อหนังศีรษะมีอาการระคายเคือง ก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับเช่นเดียวกับผิวหนังส่วนอื่นๆ ในร่างกาย นั่นก็คืออาการคัน ซึ่งเมื่อเกิดรังแคและมีอาการคัน ไม่แนะนำให้เกา เพราะเพราะการเกาจะยิ่งทำให้หนังศีรษะอักเสบและระคายเคือง ทำให้ปัญหารังแคยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นได้
- สะเก็ดสีขาวหรือเหลือง
สะเก็ดของรังแคมักจะมีสีขาวหรือเหลือง ลักษณะเป็นแผ่นแบนและบางมันวาว มักพบบริเวณหนังศีรษะ เส้นผม หรือไหล่ ซึ่งจะแตกต่างจากอาการหนังศีรษะแห้ง ที่เป็นแค่สะเก็ดสีขาว และมีขนาดเล็กกว่า สะเก็ดสีขาวหรือเหลืองเกิดขึ้นบนหนังศีรษะ นับเป็นอาการบ่งชี้ที่เด่นชัดที่สุด ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ในทันทีว่าน่าจะเป็นรังแค

วิธีการรักษารังแคบนหนังศีรษะมีอะไรบ้าง
1. ใช้แชมพูที่เหมาะสมกับหนังศีรษะ
ปัญหารังแคทำให้หนังศีรษอ่อนแอ เมื่อเป็นรังแคจึงควรเลือกแชมพูให้ดีที่สุด และเหมาะกับหนังศีรษะ หรือเป็นสูตรสำหรับรักษารังแคโดยเฉพาะ ที่มีส่วนผสมตัวยา เช่น คีโตโคนาโซล ซิงค์ไพรีไทออน ซิลิเนียม ซัลไฟด์ รวมไปถึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินปัญหารังแคและหนังศีรษะก่อนใช้ด้วย
2. หลังสระผมควรเช็ดผมให้แห้งทุกครั้ง
เมื่อหนังศีรษะไม่แห้งสนิท มีความชื้นอาจทำให้หนังศีรษะเสียสมดุล จนทำให้ผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป ทำให้เกิดรังแคขึ้น จึงควรเช็ดผมให้แห้งทุกครั้ง โดยใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดค่อย ๆ ซับเบา ๆ ที่ผมให้แห้ง หรือปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติก็ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความอับชื้นที่อาจจะเป็นต้นเหตุการเกิดของเชื้อรา และควรหลีกเลี่ยงการขยี้ผมแรง ๆ ด้วย
3. หวีผมเบา ๆ และใช้หวีที่มีซี่ห่างกัน
การหวีผมเบา ๆ และใช้หวีที่มีซี่ห่างกัน จะช่วยถนอมหนังศีรษะและเส้นผม โดยให้เริ่มหวีจากบริเวณรากผมไปตามความยาวของเส้นผม เพื่อเป็นการกระจายน้ำมันจากหนังศีรษะไปหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นให้ทั่วเส้นผม ไม่ควรใช้หวีที่มีความแข็งและซี่ถี่เกินไป เพราะอาจจะเกิดการดึงเส้นผมที่แรง จนทำให้หนังศีรษะเกิดแผลและรังแค
4. รักษาความสะอาดหนังศีรษะแบบมีสมดุล
สาเหตุหนึ่งของรังแค เกิดจากหนังศีรษะเสียสมดุลจะทำให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป หรือมันจนเกินไป จึงควรดูแลสมดุลหนังศีรษะให้ดี ด้วยการสระผมช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสระผมคือสระ 2-3 ครั้ง / สัปดาห์ และไม่ควรเว้นเวลาสระนานเกินไป อาจทำให้หนังศีรษะมันจนเกินไปจนเกิดรังแคได้
5. หลีกเลี่ยงการสระผมด้วยน้ำอุ่น และการใช้ไดร์เป่าผมที่ร้อนเกินไป
การสระผมด้วยน้ำอุ่น และการใช้ไดร์เป่าผมที่ร้อนเกินไป เป็นการใช้ความร้อนกับเส้นผมและหนังศีรษะ มีส่วนทำให้หนังศีรษะและเส้นผมแห้ง หลุดลอก และอ่อนแอจนเกิดรังแคขึ้นได้ จึงควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติในการอาบน้ำสระผม และใช้ไดร์เป่าผมลมเย็นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น
6. หลีกเลี่ยงการเกาหนังศีรษะ
อาการของรังแคส่วนหนึ่งจะมีอาการคันร่วมด้วย แต่ไม่ควรเกา แกะ หนังศีรษะเด็ดขาด รวมถึงการสระผมแล้วเกาหรือขยี้แรง ๆ เพราะอาจทำให้หนังศีรษะเป็นแผล ทำให้หนังศีรษะและเส้นผมอ่อนแอ มีส่วนทำให้อาการของรังแครุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย
7. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ
การใช้สารเคมีกับหนังศีรษะเช่น การทำสี การยืด การดัดผม การใช้สเปย์ฉีดผมหรือมูส ฯลฯ ก็มีส่วนมาก ๆ ที่ทำให้เกิดรังแคขึ้น โดยจะทำให้เกิดสารเคมีสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่หนังศีรษะได้ จึงควรเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะไปก่อน
8. หมั่นรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้กับผมหรือศีรษะ
นอกจากการดูแลรักษาความสะอาดของหนังศีรษะและเส้นผมให้มีสมดุลที่ดี ก็ควรดูแลรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้กับผมหรือศีรษะเป็นประจำด้วย เช่น ทำความสะอาดหมอน หรือปลอกหมอน หรือหมวกกันน๊อกเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยลดการสะสมของเชื้อรา
9. กำจัดรังแคด้วยสูตรจากธรรมชาติ
อย่างที่บอกไปว่าการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะและเส้นผม อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองแก่หนังศีรษะ และทำให้เกิดรังแคขึ้นได้ ลองกำจัดรังแคด้วยสูตรจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก นำมาชโลมลงบนศีรษะก่อนนอน ว่านหางจระเข้ นำส่วนที่เป็นวุ้นมาชโลมจนทั่วศีรษะอยู่เป็นประจำ หรือใช้น้ำมะนาวและน้ำมันมะพร้าว นำไปผสมกับน้ำอุ่น นำไปชโลมลงบนศีรษะจนทั่ว นวดคลึงไปพร้อมๆ กัน หมักทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วสระผมออกด้วยแชมพูตามปกติ จะช่วยกำจัดเชื้อราและทำให้เส้นผมและหนังศีรษะชุ่มชื้น

วิธีป้องกันการเกิดรังแค
วิธีรักษาอาการรังแคก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง ส่วนใครไม่อยากเป็นรังแค สามารถป้องกันการเกิดรังแคได้ด้วยวิธี ดังนี้
- สระผมด้วยแชมพูขจัดรังแคเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการระคายเคืองและไม่ให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป แต่ไม่ควรสระผมบ่อยจนเกินไป
- เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม และหนังศีรษะที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์หรือสารฟอกขาว เพราะส่วนผสมดังกล่าวสามารถทำให้หนังศีรษะแห้งได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดความมันบนหนังศีรษะ จนเกิดเป็นรังแค
- ควรออกไปสัมผัสกับแสงแดดเล็กน้อยเป็นประจำทุกวัน เพราะแสงแดดอาจช่วยควบคุมการเกิดรังแคได้ แต่ควรใช้ครีมกันแดดปกป้องผิวทุกครั้งก่อนออกแดดด้วย
- หาทางจัดการกับความเครียด เนื่องจากความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดรังแคหรือทำให้มีอาการที่แย่ลง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้นควรหาทางจัดการกับความเครียดด้วยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือการทำสมาธิ เป็นต้น
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
สำหรับอาการรังแคที่รักษาทุกวิธีกำจัดรังแคแล้วแต่ก็ไม่ดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณของอาการเกิดรังแคเรื้อรัง หรือมีสาเหตุของการเกิดรังแคที่ไม่ได้มาจากการขาดสมดุลของน้ำมันบนหนังศีรษะ ถ้าเกิดรักษารังแคด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้นเป็นเวลา 1 เดือน รังแคยังไม่ลดลง อาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุของรังแค วินิจฉัย และวางแผนการรักษาต่อไป

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับรังแค
1. รังแคทำให้ผมร่วง ผมบางได้ด้วยจริงไหม?
รังแคไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงโดยตรง แต่ก็มีส่วนทำให้ผมร่วงได้ เนื่องจากนังศีรษะเสียสมดุล แห้ง อักเสบและคันมากกว่าปกติ โดนเสียดสีจากการเกาบ่อยๆ จะทำให้รากผมยิ่งอ่อนแอและทำให้เส้มผมหลุดร่วง เป็นสาเหตุให้เกิดผมร่วงขึ้นได้ด้วย
2. การแคะ หรือเกาให้รังแคหลุดออกจากหนังศีรษะ จะช่วยทำให้รังแคลดลง?
การแคะ หรือเกาให้รังแคหลุดออกจากหนังศีรษะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะการเกาจะยิ่งทำให้หนังศีรษะอักเสบและระคายเคือง และที่ร้ายไปกว่านั้นคือทำให้อาการของรังแครุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย แนะนำให้ดูแลหนังศีรษะด้วยการใช้แชมพูที่มีสารสำคัญดูแลหนังศีรษะและลดอาการคัน ร่วมกับการไม่สระผมบ่อยเกินไป หรือทำให้หนังศีรษะอับชื้น จึงจะเป็นการช่วยทำให้รังแคลดลงได้
3. เมื่อมีรังแค จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่?
สำหรับปัญหารังแคทั่วไป สามารถรักษาให้หายหรือลดลงได้เอง แต่ถ้าเกิดมีปัญหารังแคเรื้อรัง พยายามรักษาเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้ว รังแคไม่หายและไม่ลดลง แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษารังแคให้ตรงจุด เนื่องจากสาเหตุการเกิดรังแคนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษารังแคต่อไป
4. เป็นรังแคต้องสระผมบ่อยๆ ถึงจะช่วยลดรังแคได้ จริงไหม?
ถึงแม้ว่าการสระผมบ่อยๆ จะช่วยชำระล้างหนังศีรษะให้สะอาดและขจัดรังแคที่หลุดลอกเป็นแผ่น หรือเป็นขุยขาวบนหนังศีรษะได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสระผมบ่อยเกินไปมีส่วนทำให้เกิดรังแคได้ด้วยเหมือนกัน เพราะหนังศีรษะที่สูญเสียความชุ่มชื่น จะยิ่งกระตุ้นการผลิตไขมันออกมาทดแทน ทำให้หนังศีรษะมีความมันและความชื้นมากเกินไป และเกิดการสะสมของเชื้อรา ทำให้เกิดการหลุดลอกของผิวหนัง หรือมีรังแคเพิ่มขึ้น แนะนำให้สระผมประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว
5. เป็นรังแคแล้วใช้แชมพูทั่วไปไม่ได้หรือ?
รังแคเกิดจากทั้งความไม่สมดุลของหนังศีรษะ และในแชมพูหรือยาสระผมทั่วไปไม่มีส่วนผสม หรือสารสำคัญที่ช่วยดูแลหนังศีรษะและดูแลปัญหารังแคได้อย่างตรงจุด เลยทำให้บางครั้งการใช้แชมพูทั่วไปยิ่งทำให้เกิดรังแคเพิ่มมากขึ้น หรือมีอาการที่แย่ลง จึงควรเลือกแชมพูสูตรเฉพาะสำหรับหนังศีรษะที่เป็นรังแค หรือแชมพูขจัดรังแคที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เพื่อดูแลหนังศีรษะและรังแคอย่างเหมาะสม
ปัญหารังแคเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหากวนใจ นอกจากจะทำร้ายหนังศีรษะและเส้นผมให้เสื่อมสภาพ แผ่นรังแคที่หลุดร่วง หรือาการคัน อาจจะทำให้เสียบุคลิก ทำให้เสียความมั่นใจไปได้ด้วย จึงควรรักษาและดูแลหนังศีรษะและเส้นผมจากปัญหารังแคให้เหมาะสม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลผม รวมไปถึงเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับแก้ปัญหารังแค หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ซึ่งที่ Watsons มีให้เลือกมากมาย สามารถไปช้อปได้ทั้งในร้านค้าและออนไลน์ได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bedee.com/articles/wellness/dandruff
https://www.eucerin.co.th/skin-concerns/scalp-and-hair-problems/dandruff-cause?srsltid=AfmBOooYZ6o-WQiyHYpTwp-DHXKhEKm1lWFo-8_GMjAAcIQ5PWtYriuO
https://hdmall.co.th/blog/health/dandruff-causes-symptoms/
https://www.pobpad.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%84