ยาและอาหารที่ไม่ควรทานพร้อมกัน: คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
การรับประทานยาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญต่อประสิทธิภาพในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือยาชนิดอื่น บทความนี้จะแนะนำคู่ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกัน โดยเน้นที่ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีการใช้บ่อย
ยาพาราเซตามอล: ห้ามกินคู่กับอะไรบ้าง?
1. ยาพาราเซตามอลห้ามกินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกับการรับประทานยาพาราเซตามอลอาจทำให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน แต่และยังอาจนำไปสู่ภาวะตับวายซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แอลกอฮอล์และพาราเซตามอลต่างถูกย่อยสลายที่ตับ โดยเอนไซม์หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ CYP2E1 ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเปลี่ยนสารแปลกปลอมให้ร่างกายสามารถกำจัดออกได้ง่ายขึ้น เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนโดยเอนไซม์ CYP2E1 เป็นสารพิษชื่อ acetaldehyde ซึ่งจะถูกกำจัดต่อไป ส่วนพาราเซตามอล เมื่อรับประทานในขนาดที่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่ปลอดภัย แต่ส่วนน้อย (~5-10%) จะถูกเปลี่ยนโดยเอนไซม์ CYP2E1 ให้กลายเป็น NAPQI ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถทำลายเซลล์ตับได้ เมื่อทั้งสองกระบวนการเกิดขึ้นพร้อมกัน ตับจะต้องทำงานหนักเป็นพิเศษในการกำจัดสารพิษทั้งสอง
การทำงานพร้อมกันเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำลายเซลล์ตับ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายผลิตเอนไซม์ CYP2E1 มากขึ้น ส่งผลให้เมื่อรับประทานพาราเซตามอล ตัวยาก็จะถูกเปลี่ยนเป็นสารพิษ NAPQI มากขึ้นด้วย สารพิษนี้จะจับกับโปรตีนในเซลล์ตับและทำลายเซลล์ตับโดยตรง ยิ่งมีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ความเสี่ยงนี้จะยิ่งสูงขึ้น แม้จะใช้พาราเซตามอลในขนาดปกติก็ตาม
ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์และการรับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะรับประทานยาพาราเซตามอล หากจำเป็นต้องดื่ม ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น เพื่อให้ร่างกายมีเวลาขับแอลกอฮอล์ออกจากระบบอย่างสมบูรณ์ สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้พาราเซตามอล
2. ยาพาราเซตามอลห้ามกินกับยาอื่นที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล
ยาบรรเทาอาการหวัดหลายชนิดมีส่วนผสมของพาราเซตามอล การรับประทานร่วมกันอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยเพราะผู้ป่วยมักไม่อ่านฉลากยาอย่างละเอียด หรือไม่ทราบว่ายาหลายชนิดในบ้านมีส่วนผสมเดียวกัน การได้รับพาราเซตามอลเกินขนาดอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ แม้จะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ตาม ขนาดสูงสุดที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่คือไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน
ยาบรรเทาอาการหวัดสูตรผสม ยาบรรเทาอาการหวัดส่วนใหญ่จะมีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบหลักในการลดไข้และแก้บรรเทาอาการปวด มักจะมีขนาด 325-650 มิลลิกรัมต่อเม็ด หากรับประทานยาบรรเทาอาการหวัดพร้อมกับพาราเซตามอลเพิ่มเติม อาจได้รับยาเกินขนาดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรตรวจสอบฉลากยาทุกครั้งและนับรวมปริมาณพาราเซตามอลทั้งหมดที่ได้รับ
ยาลดไข้ ยาลดไข้สำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีพาราเซตามอลเป็นองค์ประกอบหลัก บางครั้งอาจมีชื่อการค้าที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นยาคนละชนิด การใช้ยาลดไข้หลายยี่ห้อพร้อมกันจึงเสี่ยงต่อการได้รับพาราเซตามอลเกินขนาด ควรใช้ยาลดไข้เพียงชนิดเดียวในแต่ละครั้ง
ยาบรรเทาอาการปวดสูตรผสมหรือยาคลายกล้ามเนื้อมีพาราเซตามอลรวมอยู่ด้วย การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับพาราเซตามอลธรรมดาจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด ผู้ป่วยควรเลือกใช้ยาบรรเทาอาการปวดเพียงชนิดเดียว หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
3. อาหารและเครื่องดื่มที่ควรระวังเมื่อทานยาพาราเซตามอล
แม้ว่าพาราเซตามอลจะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดพร้อมกันอาจส่งผลต่อการดูดซึมหรือการออกฤทธิ์ของยา นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มภาระให้กับตับในการขับยาออกจากร่างกาย การเข้าใจถึงอาหารที่ควรระวังจะช่วยให้การใช้ยามีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่แล้ว
เครื่องดื่มคาเฟอีนปริมาณมาก การดื่มกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงพร้อมกับพาราเซตามอลอาจเพิ่มการดูดซึมของยาและทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว ซึ่งโดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายในคนสุขภาพดี แต่หากบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเช่น ความวิตกกังวลหรือนอนไม่หลับโดยเฉพาะเมื่อรับประทานพาราเซตามอลร่วมด้วย จึงควรรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณพอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปในช่วงที่ใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อความปลอดภัย
อาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงพร้อมกับพาราเซตามอลอาจชะลอการดูดซึมของยา เนื่องจากไขมันทำให้การเคลื่อนตัวของอาหารในกระเพาะช้าลง ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ช้าลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนี้มักไม่รุนแรงในผู้ที่มีสุขภาพปกติ แต่หากรับประทานพาราเซตามอลเป็นประจำหรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่เดิม ควรระมัดระวังเรื่องอาหารไขมันสูง เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงยังเพิ่มภาระให้กับตับในการย่อยไขมัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการขับยาออกจากร่างกาย
สมุนไพรบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของตับ สมุนไพรเช่น เซนต์จอห์นเวิร์ท, กิงโกะ, หรือยาจีนบางชนิดอาจมีผลต่อเอนไซม์ที่ตับใช้ในการย่อยสลายพาราเซตามอล การใช้สมุนไพรเหล่านี้พร้อมกับพาราเซตามอลอาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์หรือการขับยาออกจากร่างกาย จึงควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรทุกชนิดก่อนใช้พาราเซตามอล
ยาพาราเซตามอลกินตอนไหน กินอย่างไรให้ปลอดภัย
กินยาตามน้ำหนักตัว
การใช้พาราเซตามอลอย่างปลอดภัยต้องอาศัยการคำนวณขนาดยาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงน้ำหนักตัว อายุ และภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล การรับประทานยาเกินขนาด แม้เพียงเล็กน้อย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อพิษต่อตับได้ ในขณะที่การใช้ยาในขนาดที่ต่ำเกินไปอาจไม่สามารถบรรเทาอาการปวดหรือไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจหลักการใช้ยาจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใช้ยานี้ซ้ำหลายครั้งหรือใช้ต่อเนื่องหลายวัน
ผู้ใหญ่: ขนาดปกติคือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อครั้ง หรือ 500-1000 มิลลิกรัมต่อครั้งสามารถรับประทานทุกได้ 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4000 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัมสามารถใช้ขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อครั้งได้ แต่ยังต้องไม่เกินปริมาณรวมต่อวันที่กำหนดไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อตับ
เด็ก: ใช้ขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อครั้ง สามารถให้ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้เกินขนาดรวมที่แนะนำสำหรับน้ำหนักของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะในทารกอายุไม่เกิน 3 เดือน ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและการควบคุมอาการอย่างเหมาะสม
ยาอื่นๆ ที่ไม่ควรทานพร้อมกัน
1. ยาปฏิชีวนะกับผลิตภัณฑ์นม
การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับผลิตภัณฑ์นมเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็กที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะและดื่มนมเป็นประจำ แคลเซียมและแมกนีเซียมในผลิตภัณฑ์นมสามารถจับกับยาปฏิชีวนะกลุ่ม tetracycline และ fluoroquinolone ทำให้ยาถูกดูดซึมได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลที่ตามมาคือการรักษาอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และหากเกิดซ้ำบ่อยครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะได้
ควรเว้นระยะการรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนหรือหลังดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์นม ในกรณีของเด็กเล็กที่ต้องดื่มนมเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางเลือกในการให้ยาที่เหมาะสม เช่น การเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะชนิดอื่นที่ไม่มีปัญหานี้
2. ยาโรคประจำตัวกับผลไม้ตระกูลส้ม
ผลไม้ตระกูลส้ม เช่น เกรปฟรุต (grapefruit), ส้มโอ, มะกรูด อาจส่งผลต่อการดูดซึมและการออกฤทธิ์ของยาหลายชนิด เนื่องจากมีสารธรรมชาติในกลุ่ม furanocoumarins ซึ่งสามารถยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 ในลำไส้ เอนไซม์นี้มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายยาหลายประเภทก่อนเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อตัวยาไม่ถูกย่อยสลายตามปกติ จะทำให้ระดับยาในเลือดสูงกว่าที่ควร ส่งผลให้เกิด ผลข้างเคียงรุนแรง หรือยาออกฤทธิ์แรงเกินไป
ตัวอย่างยาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเกรปฟรุตและผลไม้ในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต กลุ่ม calcium channel blockers เช่น amlodipine, nifedipine, felodipine ยาลดไขมันในเลือด กลุ่ม statins เช่น simvastatin, atorvastatin, lovastatin ยาต้านภูมิแพ้บางชนิด เช่น fexofenadine ยากล่อมประสาท หรือยาจิตเวชบางตัว เช่น buspirone ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น cyclosporine, tacrolimus
การดื่มน้ำเกรปฟรุตปริมาณเพียงหนึ่งแก้ว (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) อาจเพิ่มระดับยาในเลือดได้หลายเท่า เช่น ยาลดความดันบางตัวอาจมีระดับในเลือดสูงขึ้นถึง 3–5 เท่า ส่งผลให้เกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด ใจเต้นช้า หรือแม้แต่หมดสติได้
แม้ผลไม้ตระกูลส้มชนิดอื่น เช่น ส้มโอหรือมะกรูด จะมีผลกระทบต่อเอนไซม์ CYP3A4 น้อยกว่าเกรปฟรุต แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดอันตรกิริยาได้เช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้เหล่านี้หากใช้ยากลุ่มเสี่ยง หรือ ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานยา โดยเฉพาะถ้าใช้ยาเป็นประจำ
3. ยาที่มีพิษต่อไต
กลุ่มยาที่อาจมีพิษต่อไตรวมถึงยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ibuprofen และ diclofenac ยาปฏิชีวนะบางชนิด และยาเคมีบำบัด การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับอาหารหรือยาอื่นที่อาจส่งผลต่อไตจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไตวาย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขาดน้ำ จำกัดการบริโภคเกลือ และระวังการใช้ยาสมุนไพรที่อาจมีผลต่อไต เช่น ยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคไต หรือความเสี่ยงต่อโรคไตและต้องมีการติดตามการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอ
4. ยาต้านวัณโรค
ยาต้านวัณโรคเป็นกลุ่มยาที่มีอันตรกิริยากับอาหารและยาอื่นได้หลากหลาย โดยเฉพาะ rifampin ซึ่งเป็นตัวเร่งเอนไซม์ตับที่แรง สามารถเพิ่มการกำจัดยาอื่นๆ ได้มาก ทำให้ยาอื่นออกฤทธิ์น้อยลง เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาต้านชัก นอกจากนี้ยาต้านวัณโรคยังไม่ควรรับประทานพร้อมกับอาหารเพราะจะลดการดูดซึมยา ผู้ป่วยวัณโรคจึงต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังและอาจต้องปรับขนาดยาอื่นๆ ที่ใช้ร่วมด้วย การติดตามและปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น
5. ยากันชักกับยา แอลกอฮอล์และอาหาร
ยากันชักหลายชนิดมีอันตรกิริยากับอาหารและยาอื่นได้เช่น phenytoin และ carbamazepine ซึ่งเป็นตัวเร่งเอนไซม์ตับ (enzyme inducer) ทำให้ยาอื่นๆ ถูกย่อยสลายเร็วขึ้น ส่งผลให้ระดับยาในเลือดลดลงและออกฤทธิ์ได้น้อยลง ในทางตรงกันข้ามvalproic acid อาจเพิ่มระดับยาอื่นในเลือดจนเกิดผลข้างเคียงได้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถลดประสิทธิภาพของยากันชัก และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการชัก อาหารที่มีไขมันสูงก็อาจเพิ่มการดูดซึมของยากันชักบางชนิดได้ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนแปลงอาหาร ใช้ยาใหม่ หรือรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรใดๆ เพื่อช่วยควบคุมระดับยาในเลือดให้คงที่และปลอดภัย
6. ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกับยาและอาหาร
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin เป็นยาที่มีอันตรกิริยากับอาหารและยาอื่นได้มากกว่ายาหลายชนิด วิตามินเคในผักใบเขียวอาจจะลดประสิทธิภาพของ warfarin ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องงดผักเหล่านี้ เพียงแค่ควรกินในปริมาณที่ “สม่ำเสมอ” เพื่อให้ยาคงประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสม ยาปฏิชีวนะหลายชนิดสามารถเพิ่มฤทธิ์ของ warfarin ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือฟกช้ำโดยไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ สมุนไพรบางชนิด เช่น กิงโกะ กระเทียม และขิง และอาหารเสริมบางประเภท อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเลือดออกหากใช้ร่วมกับ warfarin ผู้ใช้ยานี้จึงควรต้องตรวจเลือดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เริ่มหรือหยุดยา อาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ข้อมูลจาก เภสัชกรหญิง ปุญณดา สัตยารมณ์ เลขใบประกอบ ภ.40036
สาขา สยามแสควร์
